ปรัชญา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
ปรัชญาของหลักสูตร
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มุ่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีความเป็นพหุวิทยาการ สามารถประยุกต์หลักการจัดการ (Managerialism) หลักการเมืองการปกครอง (Political Approach) และหลักกฎหมาย (Legal Approach) เข้าด้วยกัน เพื่อนำไปใช้ในการบริหารงานภาครัฐ และพัฒนาความรู้ใหม่หรือวิธีปฏิบัติงานใหม่ในสาขาวิชาชีพได้อย่างสร้างสรรค์
ความสำคัญ
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัย
ราชภัฏพิบูลสงคราม เริ่มดำเนินการจัดการเรียนสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เปิดรับนักศึกษามาแล้ว จำนวน 7 รุ่น สามารถผลิตมหาบัณฑิตเข้าสู่ระบบการทำงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัยและสอดคล้องกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณลักษณะของบัณฑิตนักปฏิบัติ และเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ในการสร้างนวัตกรรมทางการบริหาร ปัจจุบันหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตดำเนินการจัดการเรียนการสอนครบรอบระยะเวลาของหลักสูตรแล้ว จึงได้จัดให้มีการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้เกิดความทันสมัยและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เปลี่ยนไป รวมทั้งให้หลักสูตรมีความสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น หลักสูตรรัฐ-ประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จึงมีการปรับปรุงเนื้อหารายวิชา ชื่อรายวิชา ให้มีความทันสมัยและตรงกับความต้องการของผู้เรียน ผู้ใช้บัณฑิต และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติมากยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตมหาบัณฑิตให้มีความรู้ ความสามารถในด้านต่างๆ ดังนี้
- ผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม
- ผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ทางวิชาการและทักษะทางวิชาชีพทางรัฐประศาสนศาสตร์ มีความสามารถในการประยุกต์ใช้หลักการจัดการ (Managerialism) หลักการเมืองการปกครอง (Political Approach) และหลักกฎหมาย (Legal Approach) เพื่อสร้างนวัตกรรมการจัดการหรือวิธีปฏิบัติงานใหม่ในสาขาวิชาชีพได้อย่างสร้างสรรค์
- ผลิตมหาบัณฑิตให้มีทักษะในการแก้ไขปัญหาสังคม สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์และประยุกต์ใช้ความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์ในการวิเคราะห์สถานการณ์หรือสภาพปัญหาสังคมที่มีความซับซ้อนได้อย่างเหมาะสม
- ผลิตมหาบัณฑิตให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่มีความหลากหลาย รับฟังความเห็นที่แตกต่างและแสดงความคิดเห็นได้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงการแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์บนฐานแนวคิดและทฤษฎีทางรัฐประศาสนศาสตร์