หลักสูตรสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย : หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
ภาษาอังกฤษ : Bachelor of Public Administration Program in Public Administration
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ภาษาไทย : รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์)
: รป.บ. (รัฐประศาสนศาสตร์)
ภาษาอังกฤษ : Bachelor of Public Administration (Public Administration)
: B.P.A. (Public Administration)
“สิงห์พิบูล ใฝ่รู้ สู่ผู้นำ พร้อมทำเพื่อแผ่นดิน”
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต ถือกำเนิดขึ้นมาได้เนื่องจากสถานการณ์ภายนอกที่เกิดขึ้น ทำให้การจัดการเรียนการสอนจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรเพื่อรองรับสถานการณ์ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ประเทศไทยเข้าสู่สังคมประชาคมอาเซียน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเคารพและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ส่งเสริมวิถีแห่งประชาธิปไตย ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล สามารถปรับตัวภายใต้ความขัดแย้งที่มีความซับซ้อนและจัดการปัญหาอย่างสันติวิธี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการบริหารจัดการภาครัฐของประเทศไทย เพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเหมาะสมและเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการภาครัฐของไทยมีการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและตอบสนองความต้องการของประชาชนและประเทศชาติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ทางหลักสูตรได้ยึดหลักการสอนในศตวรรษที่21 โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เข้าถึง เข้าใจ ในหลักวิชาการและหลักการทำงานในสถานการณ์จริงเป็นสำคัญ
ปัจจุบันหลักสูตรฯ มี 2 วิชาเอก ได้แก่ 1.เอกการบริหารจัดการภาครัฐ และ 2. การปกครองท้องถิ่น
ปรัชญาของหลักสูตร
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรอบรู้ด้านการบริหารจัดการ รอบรู้บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีทักษะในการประกอบอาชีพและมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการภาครัฐและเอกชน ควบคู่กับคุณธรรม จริยธรรม สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ตลอดจนมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยและสร้างเครือข่ายประชาสังคมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ความสำคัญของหลักสูตร
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เป็นหลักสูตรที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งในระดับองค์กรระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ มุ่งเน้นให้บัณฑิตมีทักษะทางด้านวิชาการและวิชาชีพควบคู่คุณธรรมจริยธรรม รวมไปถึงประยุกต์ใช้ความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์ในการวิเคราะห์สถานการณ์หรือสภาพปัญหาที่มีความซับซ้อนทั้งในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชนสามารถปรับวิถีชีวิตภายใต้ความขัดแย้งทางค่านิยมด้วยสันติวิธี ตลอดจนนำทักษะทางการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาที่มีความเป็นพลวัตและมีความสลับซับซ้อน
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เป็นหลักสูตรปริญญาตรีทางวิชาการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ความสามารถในด้านต่างๆดังนี้
1. มีความรู้ทางวิชาการ รอบรู้บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อประยุกต์ใช้และเชื่อมโยงความคิดอย่างเป็นระบบในการบริหารจัดการภาครัฐทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
2.มีทักษะทางวิชาชีพและสามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อใช้องค์ความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์ในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
3.มีคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารจัดการ ตามหลักการบริหารจัดการที่ดี มีจิตสำนึกของการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม และสามารถดำรงตนภายใต้สังคมที่มีความขัดแย้งได้อย่างเหมาะสม
คุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์
จุดมุ่งหมายของหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์มุ่งเน้นให้ผู้สำเร็จการศึกษา สามารถประกอบอาชีพตรงตามความต้องการของสังคมและท้องถิ่นตามคุณวุฒิ ศักยภาพ และสมรรถนะของผู้สำเร็จการศึกษา โดยต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม และสามารถปรับวิถีชีวิตภายใต้ความขัดแย้งทางค่านิยม รวมทั้งมีการพัฒนานิสัยและการปฏิบัติตนตามศีลธรรม
2.มีความรู้ทางวิชาการและทักษะทางวิชาชีพทางรัฐประศาสนศาสตร์
3.สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางรัฐประศาสนศาสตร์ในการวิเคราะห์สถานการณ์หรือสภาพปัญหาที่มีความซับซ้อนได้อย่างเหมาะสม
4.สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่มีความหลากหลาย รับฟังความเห็นที่แตกต่างและแสดงความคิดเห็นได้อย่างสร้างสรรค์
5.มีประสิทธิภาพในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสื่อสารได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงสามารถใช้เครื่องมือในทางสถิติขั้นพื้นฐานในการแก้ปัญหาทางการวิจัยได้อย่างถูกต้อง
6.เป็นนักปฏิบัติ ที่มีความซื่อสัตย์และมีจิตสาธารณะเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
สิ่งที่ทางหลักสูตรฯ ดูแลนักศึกษาเป็นอย่างดี คือ จัดปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ แนะนำวิธีการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เทคนิคและวิธีการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และการแบ่งเวลาในการเรียนและการร่วมกิจกรรมต่างๆ นอกจากนั้นมอบหมายหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่อาจารย์ทุกคน ทำหน้าที่สอดส่องดูแล ตักเตือน ให้คำปรึกษาแนะนำแก่นักศึกษาตลอดหลักสูตร
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
- เจ้าพนักงานปกครอง เช่น ปลัด ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน
- ข้าราชการ / พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- เจ้าหน้าที่บริหารทรัพยากรมนุษย์
- นักวิชาการด้านรัฐประศาสนศาสตร์
- ข้าราชการพลเรือนในสังกัดส่วนราชการต่างๆ
- ข้าราชการทหาร / ตำรวจ
- เจ้าหน้าที่ในองค์การมหาชน
- เจ้าหน้าที่ในองค์กรของรัฐวิสาหกิจ
- เจ้าหน้าที่ในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
- ผู้ปฏิบัติงานบริหารในภาคธุรกิจเอกชน
- เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป
- อาชีพอื่นๆ
25,855 total views, 16 views today